ติดอาวุธปัญญาเด็กดอยตุงภูมิคุ้มกันรอดพ้นยาเสพติด (22 Apr 14)
ณดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ จุดที่รวมแผ่นดินไทย ลาว และพม่า บรรจบไว้ด้วยกัน ที่ที่มีทัศนียภาพงดงามแต่แฝงไว้ด้วยฝิ่นและเฮโรอีนเกินกว่าครึ่งของจำนวนที่มีอยู่ทั้งโลก ที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นรากเหง้าของปัญหาอาชญากรรมและการกระทำอันทุจริตที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย แพร่สู่แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาทุกๆ ปี
จนกระทั่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้นในจุดเหนือสุดของประเทศไทย มุ่งฟื้นคืนผืนป่าและฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ผ่านการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เกิดเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแก้ปัญหาไม่มีความรู้ จน เจ็บ รากฐานของปัญหาสังคมเกือบทั้งหมดบนยอดดอยแห่งนี้
"จวบจนเวลาผ่านไป 20 กว่าปี ปัญหาของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนบนดอยไม่ได้จน เจ็บอีกต่อไป เพราะแค่เปิดก๊อกก็มีน้ำ เปิดสวิตช์ก็มีไฟ คุณภาพชีวิตและการศึกษาดีขึ้น" พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ทำให้เด็กดอยตุงรุ่นใหม่ถูกตามใจมากขึ้น ขณะที่พื่นที่นี้ยังมีความเสี่ยงอยู่เช่นเดิม หลายครั้งจึงได้ยินข่าวการลำเลียงยาเสพติดที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง
นี่เองจึงเป็นที่มาของ "ค่ายพลังเยาวชนใฝ่ดีหอฝิ่นป้องกันยาเสพติด" เพื่อสร้างเด็กวัยก่อนเสี่ยงให้มีภูมิคุ้มกันรอดพ้นยาเสพติด เพื่อเป็นรากฐานด้านจิตสำนึกให้แก่เขา โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ริเริ่มโครงการ "ค่ายพลังเยาวชนใฝ่ดีหอฝิ่นป้องกันยาเสพติด" ณ หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำและโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เด็กอายุ 9-12 ปีที่เรียกว่า "วัยก่อนเสี่ยง" มีความพร้อมที่จะกล่าว "ปฏิเสธยาเสพติด" ได้ เหล่าเด็กๆ เริ่มต้นค่ายด้วยการเปลี่ยนตัวเองเป็นหนึ่งในนักสืบดอยตุง ไปเรียนรู้เรื่องราวของดอยตุงในอดีต ผ่านการเล่าเรื่องของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ณ สวนแม่ฟ้าหลวง ก่อนจะไปสัมผัสกับอนาคตที่สดใสของพวกเขา ในกิจกรรมสร้างงาน สร้างคน เรียนรู้ดอยตุงในปัจจุบัน
เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของคนและป่า และโอกาสทางอาชีพในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น โรงทอผ้า กระดาษสา เซรามิก และโรงคั่วกาแฟ แล้วนำความรู้นั้นมาบอกเล่าเรื่องราวผ่านนิทานบ้านฉัน ปั้นดินเป็นดอยตุงในอดีตและความฝัน
ซึ่งเด็กหลายๆ คนก็แสดงออกให้รู้ว่าในอดีตดอยตุงเต็มไปด้วยยาเสพติด และพวกเขาไม่อยากเห็นภาพอนาคตเป็นเช่นนั้นอีก
ก่อนจะก้าวเข้าสู่ด่านต่อไปด้วยการเรียนรู้เรื่องฝิ่นและยาเสพติดที่หอฝิ่น กิมมิคเล็กๆ ของค่ายนี้ อยู่ที่เด็กๆ ได้สัมผัสกับการทดลองยาเสพติดอย่างเช่นบุหรี่ ว่าหลังจากสูบเข้าไปแล้วจะพบกับสารเคมีชนิดใด และทำปฏิกิริยาใดกับร่างกายของคนสูบ เพื่อให้รู้ว่าโทษจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ก่อนเข้าสู่กิจกรรมโยงใยความชั่วร้าย บทบาทสมมุติที่จะทำให้เขารู้ว่าหากเขาเลือกเดินทางผิดจะส่งผล กระทบต่อใครบ้าง
ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการเขียนจดหมายถึงสมเด็จย่า ที่แม้เด็กแต่ละคนจะไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก แต่ต่างก็ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดี
ด้วยการปลูกฝังเด็กจากการเรียนรู้แต่ละฐานด้วยตัวของเขาเอง พร้อมทั้งให้ครูและคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานของค่ายด้วยตัวเอง
พิมพรรณคาดหวังว่า ค่ายนี้เด็กๆ จะได้ภูมิคุ้มกัน มีความมั่นคงในจิตใจลึกๆ ว่าจะไม่เอาเรื่องยาเสพติด เพราะเขาเองไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจหรือเดือดร้อน
"ฉันอยากจะดี ฉันอยากมีอนาคตที่ดี เพราะเราห้ามคนขายไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือติดอาวุธให้แก่เด็กเพื่อความมั่นคง" พิมพรรณทิ้งท้าย ตัวแทนเด็กดอยตุงรุ่นใหม่ที่ร่วมเข้าค่ายในครั้งนี้ "ชุติมา หม่อโป๊ะ" ชั้น ป.6 โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 5 บ้านผาหมี อายุ 14 ปี เล่าว่า ก่อนจะมาเข้าค่ายก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่เคยออกจากหมู่บ้านมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ออกมา เมื่อมาเข้าค่ายแล้วก็ได้รู้จักเพื่อนหลายคน และได้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด รู้จักทำอาชีพต่างๆ ซึ่งเราก็อยากจะเป็นแบบนั้น ได้เห็นคนทำงานอย่างสนุกและมีรายได้ ก็อยากทอผ้าแบบนั้นบ้าง
"ในค่ายสอนให้รู้ว่ายาเสพติดมีโทษ เช่น ได้ทดลองว่าข้างในบุหรี่มีน้ำมันดิน ที่จะไปเกาะในปอดของเรา แล้วยังทำให้เหนื่อยง่าย หอบง่าย เป็นโทษ กลับไปก็อยากจะไปบอกคนที่สูบบุหรี่หรือคนที่อยู่ใกล้ๆ เราว่าไม่ให้สูบบุหรี่ หากมีคนมาชักชวนเราให้ไปสูบบุหรี่ เราก็จะตะโกนให้คนมาช่วย วิ่งหนีแล้วแจ้งตำรวจ เพราะเราไม่ชอบยาเสพติด และอยากให้หมดไปจากหมู่บ้านเรา"ชุติมากล่าวด้วยน้ำเสียงฉะฉาน
ด้าน "กวงฟู" วัย 9 ปี ชั้น ป.3 โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เผยว่า ก่อนจะมาค่ายก็รู้มาบ้างว่ายาเสพติดแต่ละอย่างเป็นอย่างไร อย่างบุหรี่จะยาวๆ กลมๆ ข้างในมีน้ำมันดิน ทำให้เราเป็นมะเร็ง ถุงลมปอด หัวใจวายตายได้ เราก็รู้ว่ามันไม่ดี เหมือนเหล้าที่ทำให้คนเมา ดื่มแล้วก็จะไปทำร้ายคนอื่นๆ เราไม่อยากให้มีคนแบบนี้ในหมู่บ้านของเรา
"พวกเราได้ไปดูหอฝิ่น ที่เป็นมุมมืดๆ ได้เห็นคนติดยาเสพติด ซึ่งน่ากลัว เราไม่อยากเป็นแบบนั้น โทษของมันมากมาย ยิ่งเสพยิ่งอายุสั้น เราควรไปทำอะไรที่สร้างสรรค์ ไปตั้งใจเรียนดีกว่า
นอกจากนี้ กลับไปแล้วเราก็จะช่วยกันปกป้องหมู่บ้านของเราร่วมกับเพื่อนๆ ด้วย"
ปลูกฝังจิตสำนึกในใจเด็ก
--มติชน ฉบับวันที่ 20 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--