member องค์กรสร้างคน 'ดอยตุง' | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

องค์กรสร้างคน 'ดอยตุง' (13 Feb 13)

777เวลานึกถึง "ดอยตุง" เรานึกถึงอะไร? หลายคนคงนึกถึงกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น และไอควันบางเบาที่ลอยอ้อยอิ่ง บางคนอาจนึกถึงผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากโครงการ ในพระราชดำริ และคงมีอีกไม่น้อยที่นึกถึง ภูมิทัศน์ผืนป่าที่ราบสูง ซึ่งเขียวขจีและ ไกลสุดลูกหูลูกตา


กว่า 28 ปีของความสำเร็จดอยตุงในวันนี้ เป็นสิ่งที่ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการบริหาร โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บอกว่า ดอยตุงเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีแบรนด์อันแข็งแกร่ง และได้รับการยอมรับในตลาดโลก แต่ก็ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่ไม่รู้จักว่าดอยตุงคืออะไร และมีวิธีคิดในการทำธุรกิจเป็นอย่างไร

แบรนด์ดอยตุงเป็นผลพลอยได้จากการพัฒนา เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนของชาวเขา โดยเน้นที่การสร้างคนเป็นสำคัญ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ
ขั้นตอนที่ 1 เปลี่ยนจากความยากจนข้นแค้นของชาวเขาเผ่าต่างๆ ด้วยการดึงออกมาให้ "พออยู่ พอกิน" และพ้นจากความอดอยาก
"จากที่เคยมีเงินซื้อข้าวกินได้เพียงปีละ 6 เดือน ก็พัฒนาให้มีเงินสามารถซื้อข้าวกินได้ทั้งปี จากที่ไม่เคยมีหมอมารักษาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ให้พ้นจากสภาพตรงนั้น และที่เคยต้องกู้หนี้ยืมสินก็หยุดการมีหนี้ที่พอกพูนเสีย"
ขั้นตอนที่ 2 ให้ดำรงตนอยู่ในสถานภาพพออยู่ พอกิน พอใช้ มีความต้องการพื้นฐานในชีวิตครบถ้วน มีรายได้สม่ำเสมอ มีเงินทองพอส่งลูกหลานไปเรียน
และขั้นตอนที่ 3 พัฒนาในอยู่ในขั้นของการ "มีอยู่ มีกิน มีใช้ มีออม และมีภูมิคุ้มกัน" ไม่โดนผลกระทบจากสังคมภายนอก ดูแลตัวเองได้ และสามารถเดินหน้าพัฒนาตัวเองต่อ

ทุกวันนี้ดอยตุงบริหารจัดการองค์กรจนอยู่ในขั้นที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นขั้นสูงสุดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเติมเต็มความสำเร็จนับจากนี้ เป็นเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้และความสามารถ เพื่อไปสร้างปลายทางให้ยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ

"ไม่ว่าจะเป็นการบริหารพัฒนาองค์กร หรือการใช้ชีวิต เราหยุดไม่ได้หรอก ถึงแม้ว่าเราจะพออยู่พอกินแล้ว แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากให้ชีวิตของเราดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ในแง่ของการสร้างความร่ำรวย แต่เป็นเรื่องของการเติบใหญ่และเรียนรู้ไปตลอดชีวิต"

ดอยตุงเป็นแบรนด์ที่เกิดจากการแก้ปัญหา และต้องการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการการสร้างคน เพราะคนเป็นศูนย์กลางของปัญหา
ในอดีตดอยตุงประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยน "คนปลูกฝิ่น" ให้กลายมาเป็น "คนปลูกป่า" มาถึงวันนี้ดอยตุงพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มจาก "คนปลูกป่า" มาเป็น "คนปลูกกาแฟ"และ "คนปลูกแมคคาเดเมีย" ที่ทั้งห่วงโซ่การผลิต ไม่ใช่เพียงแต่ให้ฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เป็นการสร้างป่าทั้งผืน และฟื้นฟูสังคมบนที่ราบสูง ที่ครั้งหนึ่งเกือบล่มสลายเพราะฝิ่น

"ในยุคแรกๆ ดอยตุงจ้างชนเผ่าปลูกป่า และให้เงินมากกว่าการปลูกฝิ่น เมื่อมีป่า ก็เริ่มปลูกกาแฟที่จะได้ผลผลิตดีมีคุณภาพเพราะอยู่ใกล้ป่า จากพื้นที่ป่าก็กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ทุกวันนี้เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตโดยไม่ต้องปลูกป่าเพิ่ม อย่างเช่นว่า เมล็ดกาแฟสุกรับซื้อกิโลกรัมละ 18 บาท ถ้าตากแห้งกลายเป็นสารกาแฟจะรับซื้อกิโลกรัมละ 120 บาท ถ้าเอาไปคั่วบดราคาจะขยับขึ้นเป็น 300 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเอาไปติดแบรนด์ดอยตุงสามารถขายได้กิโลกรัมละ 800 บาท และเมื่ออยู่ในดอยตุง คาเฟ่ เราสามารถขายได้มากถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาท ทำให้ชาวเขาได้เงินมากขึ้นจากการปลูกกาแฟ รวมถึงพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างแมคคาเดเมีย"

คุณหญิงบอกว่า ดอยตุงเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่เน้นให้ผู้ผลิตและลูกค้าอยู่ในหัวใจตลอดเวลา การสร้างงานมุ่งสร้างเพื่อให้เกิดรายได้ต่อคน มากกว่ามุ่งการผลิตแบบอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันไม่เน้นการพึ่งพาพลังงานน้ำมันมากเกินไป แต่เน้นการพึ่งพางานทำมือ ที่มาจากความตั้งใจจริงของคน
"การทำงานเราต้องมองให้รอบ จะมองแต่เงินอย่างเดียวไม่ได้"

วิสัยทัศน์ของดอยตุงคือ โครงการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้กับคนและธรรมชาติ สามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ที่พื้นที่และประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถศึกษาและนำไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาของตน และเป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วมต่อไป

ภายใต้พันธกิจคือ ดำเนินการพัฒนาเพื่อให้คนบนดอยตุงสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และนำพาตนเองและชุมชนให้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในฐานะประชาชนคนไทยที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและ ผลกระทบต่างๆ จากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยไม่ทำลายความสมดุลของธรรมชาติแวดล้อมและยังคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของวัฒนธรรมตน

คุณหญิงบอกว่า หลายคนอาจมองว่ากาแฟดอยตุงราคาแพงหูฉี่ แต่ถ้าเปรียบเทียบราคากับทั้งตลาด ยังไงก็ยังถูกกว่าแบรนด์ดังระดับโลก ในคุณภาพที่ไม่ด้อยไปกว่ากัน พร้อมพูดติดตลกว่า ถ้าอยากดูดีให้ไปดื่มแบรนด์ระดับโลก แต่ถ้ามีหัวใจรักชาติ (ที่มากพอ) ควรหาเวลาว่างแวะไปดื่มกาแฟดอยตุงกันบ้าง
เพราะเงินทองที่ดอยตุงหาได้ ก็ไม่ได้ รั่วไหลไปไหน...

"ดอยตุงเป็นแบรนด์ที่เกิดจาก 'การแก้ปัญหา และต้องการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการสร้างคน เพราะคนเป็นศูนย์กลางปัญหา"

 

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วรนุช เจียมรจนานนท์