ต้นกำเนิดมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
จากการที่เสด็จไปยังพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารทั่วประเทศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพบว่า ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตที่เป็นไปอย่างลำบาก มีชีวิตที่ไม่มั่นคง อาศัยการเพาะปลูก ทำไร่เลื่อนลอยในการเลี้ยงชีพ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ ที่จะนำเอางานหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆที่มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไปส่งเสริมเพื่อที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชาวบ้าน นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 100,000 บาท ก่อตั้ง "มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย" ในปีพุทธศักราช 2515 การดำเนินงานของมูลนิธิฯประสบผลสำเร็จด้วยดี งานหัตถกรรมของชาวเขาเริ่มเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ
ในปีพุทธศักราช 2528 มูลนิธิฯ ได้ขยายขอบเขตการทำงานครอบคลุมถึงการพัฒนาเด็กเยาวชนและ อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทยล้านนา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"
ในปีพุทธศักราช 2532 โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ดำเนินงานด้านการพัฒนาคน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสเท่าเทียมกับคนพื้นราบ สามารถช่วยตัวเอง รักษาและพัฒนาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ และทำประโยชน์ให้สังคม การดำเนินงานของโครงการเป็นต้นแบบ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับภูมิสังคมในที่อื่นได้