member ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ประกอบการเพื่อสังคมแห่งปี พ.ศ. 2552 | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ประกอบการเพื่อสังคมแห่งปี พ.ศ. 2552 (10 ธ.ค. 52)

     ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิชวาบ (The Schwab Foundation) ให้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่น ในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ประจำปี พ.ศ. 2552
     มูลนิธิชวาบก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1998 โดยคลอส ชวาบ (Professor Klaus Schwab) และ ฮิลเด ชวาบ (Mrs. Hilde Schwab) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการประกอบการเพื่อสังคม ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนในระดับรากหญ้า ทั้งนี้ คลอส ชวาบยังเป็นผู้ก่อตั้งการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) อีกด้วย
     มูลนิธิชวาบและการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกต่างๆ ในการจัดประชุมเศรษฐกิจโลก ซึ่งเปรียบเสมือนเวทีที่รวมผู้นำระดับโลกจากหลายสาขา ทั้งวงการธุรกิจ รัฐบาล วิชาการ และประชาสังคม ทั้งนี้ การร่วมมือกันดังกล่าวเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจและสังคมสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การพัฒนาคนและแก้ปัญหาสถานการณ์โลก
      มูลนิธิชวาบคัดเลือกผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่นจากทั่วโลกปีละ 18 ท่าน ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่นในเครือข่าย 160 ราย ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้ โดยมีคุณมีชัย วีระไวทยะ ได้รับรางวัลนี้เมื่อปี พ.ศ. 2550
     มูลนิธิพิจารณาผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่นโดยพิจารณาจากเกณฑ์ 4 ประการ ได้แก่ ความคิดริเริ่ม ความยั่งยืน ผลประโยชน์ที่สังคมได้รับในทางตรง และความสามารถในการขยายและนำไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการมูลนิธิประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการนานาประเทศ อาทิ ซาเนเล มเบกิ (Zanele Mbeki) ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ มูฮัมหมัด ยูนัส (Muhammad Yunus) กรรมการผู้จัดการธนาคารกรามีนบังคลาเทศ และเปาโล คูแอลยู (Paulo Coelho)
     ม.ร.ว. ดิศนัดดา เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดการปลูกและค้าฝิ่น และฟื้นฟูพื้นที่ป่าในภาคเหนือ
     ตั้งแต่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 โครงการฯ ได้นำการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Livelihood Development หรือ SALD) มาใช้เพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคม โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุข เพิ่มโอกาสทางการศึกษา ปลูกฝังจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม และให้ทางเลือกทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
     นอกจากโครงการจะประสบความสำเร็จในเขตภาคเหนือและบริเวณเขตชายแดนพม่าแล้ว ยังมีการขยายผลไปประเทศอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่ สหภาพพม่า อินโดนีเซีย และอัฟกานิสถานอีกด้วย โดยนำ ?การพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน? ไปปรับใช้และแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หลักพัฒนาอย่างบูรณาการที่มุ่งแก้ความเจ็บ ความจน ความไม่รู้ ยังคงอยู่ในทุกโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งใช้เวลาและทำอย่างเป็นขั้นป็นตอน
     ถึงแม้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จะเป็นที่ยอมรับในระดับโลกแล้ว แต่ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุลยังไม่หยุดงานพัฒนาไว้เพียงเท่านี้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ม.ร.ว. ดิศนัดดาร่วมมือกับรัฐบาล จัดตั้งโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดของ คือ กระตุ้นให้เกิดล้านกิจกรรมพัฒนาตนเองตามแนวพระราชดำริทั่วประเทศ
     ?ผมพยายามคิดถึงสิ่งที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสบายพระทัย พระองค์ทรงงานหนักมามากเพื่อพสกนิกรชาวไทย สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ คงเป็นการศึกษาเรียนรู้และน้อมนำเอาแนวพระราชดำริที่ได้ทรงริเริ่มไว้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ เมืองไทยมีปริมาณน้ำฝน 700 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และภาคอีสานได้รับน้ำมากถึง 236 ล้าน แต่เก็บน้ำได้เพียงร้อยละ 2.7 ของปริมาณน้ำทั้งหมด คุณลองคิดดูว่าหากเราทำแก้มลิงตามอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลองทำในเขตกรุงเทพฯ จะช่วยเก็บน้ำและนำไปใช้ประโยชน์ได้มหาศาลแค่ไหน?
     ?ทุกฝ่ายพยายามอย่างหนักเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ทุกคนมัวแต่แก้ปัญหาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีใครมองที่ต้นน้ำ เราควรเริ่มจากร่วมกันฟื้นฟูต้นน้ำที่แม่น้ำน่าน ชาวบ้านที่อำเภอสองแคว จ. น่าน ปลูกข้าวโพดแต่ก็มีปัญหาสารพิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง ข้อมูลล่าสุดที่ผมได้ คือ จ. น่านซื้อไข่เพื่อบริโภคต่อปีคิดเป็นเงินหลายล้านบาท ผมเลยคิดว่าเราควรจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็ดไก่ เพื่อลดการซื้ออาหารจากนอกพื้นที่ และมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพด ทั้งยังช่วยฟื้นฟูสภาพไร่ข้าวโพดด้วย นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโครงการปลูกป่า 80 แสนไร่เพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2555?
     โครงการพัฒนาดอยตุงยึดหลักการพัฒนาอย่างบูรณาการ ยึดคนเป็นที่ตั้ง และเน้นการประเมินดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) เพื่อวัดผลว่าชาวบ้านได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนา โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ ส่วน ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุลเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีรไวทยะเป็นรองประธาน
     ?ระบบ ?ism? ทุกอย่างใช้ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น communism, socialism หรือ capitalism ที่ทั่วโลกกำลังเห่อมากในช่วงนี้ แต่วันนี้เป็นยุคที่ของ Corporate Social Responsibility (CSR) และ Social Entrepreneur  ที่เราควรจะหยุดเพื่อคิดถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องรู้จัก ?Take a little less and give a little more.?  ม.ร.ว. ดิศนัดดา ทิ้งท้าย

(ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552)