member ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ (15 พ.ย. 59)

ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ
เรียนรู้เรื่องราวของผู้สร้างสุขให้แผ่นดิน

ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ทุกวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
3 ธันวาคม 2559 - 29 มกราคม 2560 และช่วงวันหยุดพิเศษ 24 ธ.ค. – 3 ม.ค. 2560
   เวลา 08.00 – 18.00 น.

  งาน 'ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ’ จัดขึ้นโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อน้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความอยู่ดีมีสุขของปวงชนชาวไทยทุกหนทุกแห่งอย่างยั่งยืน
 งานนี้จะพาคุณย้อนรอยสู่จุดเริ่มต้นของความรักความผูกพันระหว่าง 'แม่' และ 'ลูก' ซึ่งต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันในหลายแง่มุม ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องของการใช้ชีวิต จนถึงแนวทางในการทำงาน พร้อมร่วมชื่นชมดอกผลแห่งพระราชปณิธานในการพลิกฟื้นดอยตุงจากเขาหัวโล้นเกือบหนึ่งแสนไร่ให้เป็นป่าเขียวชอุ่มและเป็นบ้านที่อบอุ่นให้คนดอยตุงกว่าหนึ่งหมื่นชีวิต
 งาน 'ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ’ ประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 3 ส่วน  ได้แก่ นิทรรศการสุดพิเศษ ณ พระตำหนักดอยตุง หอแห่งแรงบันดาลใจ และกาดชนเผ่า

พระตำหนักดอยตุง
กับนิทรรศการภาพถ่ายแห่งความผูกพัน
พระตำหนักดอยตุงสะท้อนพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายและพอเพียงของสมเด็จย่าได้ชัดเจนที่สุด ปีนี้เป็นครั้งแรก ที่ภายในพระตำหนักสมเด็จย่าจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมสมเด็จพระบรมราชชนนีและปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ดอยตุงที่ไม่เคยเปิดแสดง ที่ไหนมาก่อน 

หอแห่งแรงบันดาลใจ
ร้อยเรื่องราวของครอบครัวมหิดล
ส่วนแสดงนิทรรศการถาวร “หอแห่งแรงบันดาลใจ” รวบรวมพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทรา -   บรมราชชนนีและราชสกุลมหิดล บอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จย่ากับการอภิบาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งยังทรงพระเยาวว์ให้ทรงรู้หน้าที่ ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติในฐานะกษัตริย์ ภายในหอฯ ยังได้รวบรวมโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้กว่าสี่พันโครงการ และการสานต่อพระราชปณิธานที่ดอยตุงอีกด้วย
 ผู้เข้าชมจะได้ร่วมเขียนปณิธานแห่งการให้ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นเพื่อตามแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงและยั่งยืน 
 เปิดให้เข้าชมฟรีตลอดงาน  ตั้งแต่วันนี้ – 30 ตุลาคม 2560 

กาดชนเผ่า
เลือกซื้อผลผลิตจากคนที่อยู่กับป่า
 ‘กาด’ในภาษาถิ่นของคนในภาคเหนือหมายถึง ‘ตลาด’ และกาดชนเผ่าบนดอยตุงนั้น ไม่เหมือนกาดไหนในโลก เพราะเป็นถนนคนเดินที่สูงกว่า 1,100 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ให้เป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นถิ่นที่ผ่านการอบรมและคัดเลือกเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ จนมาเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและอาหารจากชนเผ่าฝีมือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณโครงการพัฒนาดอยตุงฯ กว่า 80 ร้าน เปรียบเสมือนดอกผลจากการพัฒนากว่า 20 ปี แถมยังเป็น การกระจายรายได้ให้กับชุมชนดอยตุงโดยตรง พร้อมกับเป็นแรงจูงใจให้ชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป 

กิจกรรมอื่นๆ ภายในงาน
 บริเวณโดยรอบของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังมีนิทรรศการและงานแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น 
  สวนแม่ฟ้าหลวงกับการแสดงดอกไม้นานาพันธุ์ และหมู่บ้านดอกไม้ จำลองบ้านชนเผ่า แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวดอยตุง
  นิทรรศการพลังงานทดแทนบนดอยตุงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  
  การสาธิตและเวิร์กช็อปหัตถกรรม น้อมนำพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่าในด้าน ‘ศาสตร์- และศิลป์’  
  - สาธิตการปั้นเซรามิกด้วยเทคนิกต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถปั้นและระบายสีเซรามิก   ด้วยตัวเอง (มีบริการจัดส่งถึงบ้าน)  
  - เวิร์กช็อปตกแต่งกระดาษสาด้วยดอกไม้แห้งและเส้นด้ายให้เป็นปกสมุดและไปรษณียบัตร
  - สาธิตการทอพรมยิง ออกแบบลวดลายโดยศิลปินจิตอาสา อาทิ ม.ล.จิราธร จิระประวัติ คุณแป้ง-ภัทรีดา ประสานทอง คุณนวล-นวลพรรณ ประสานทอง  Alex Face-คุณ พัชรพล แตงรื่น เป็นต้น 
  - นิทรรศการศิลปะจัดวาง โดยทีมสถาปนิกเจ้าของรางวัลทั้งจากในและต่างประเทศ สร้างสรรค์งานโดยนำเรื่องราวบนดอยตุงมาเป็นแรงบันดาลใจ
     o From the Land, For the Land  (ปลูกคน ปลูกดอย) คุณสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ เจ้าของ Sanitas Studio แปลงมุมหนึ่งในเรือนเพาะกล้าให้อวลไอไปด้วยบรรยากาศของกาแฟ หนึ่งในพืชเศรษฐกิจบนดอยตุงที่ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
     o ร่มเงาของชีวิต จากมุมมองว่าดอยตุงดอยตุงเป็นร่มเงาให้ชีวิตที่ร่มเย็นกับทุกคนบนดอย คุณปิตุพงษ์ เชาวกุล จึงนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ผ่านอุโมงค์ทางเข้างานทั้งสองฝั่ง โดยนำผ้าทอมือเหลือใช้จากศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือบนดอยตุงเป็นส่วนประกอบหลัก
  งานฝีมือจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ดอยตุง  ส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนบนดอยตุง โดยผ่านกระบวนการให้เด็กเลือกนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและต้นทุนในพื้นที่มาต่อยอดเป็นธุรกิจเล็กๆที่เด็กสามารถทำได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป อาทิ การทำดอกไม้แห้ง การปักผ้าชนเผ่า การทำเครื่องเล่นและของใช้จากไม้ไผ่ และการพิมพ์ลายพื้นเมือง
  พิเศษสำหรับแฟนพันธุ์แท้ คาเฟ่ดอยตุงและดอยตุงไลฟ์สไตล์ มีการสาธิตการคั่วเมล็ดกาแฟอาราบิกาสดใหม่ และยังมีการจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกอีกมากจากแบรนด์ดอยตุงไลฟ์สไตล์ในราคาพิเศษอีกด้วย  

จุดอำนวยความสะดวก
บริการจุดจอดรถและรถรับส่งถึงงาน โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการจัดการจราจรเพื่ออำนวย   ความสะดวก ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. สำหรับครอบครัวที่ต้องการรถเข็นสามารถติดต่อขอยืมได้บริเวณซุ้มประตูทางเข้างาน และมีบริการรถกอล์ฟให้เช่าภายในงานอีกด้วย
 
ทั้งนี้ งาน ‘ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ’ เป็นการปรับรูปแบบจาก งาน ‘สีสันแห่งดอยตุง’ ที่จัดต่อเนื่องและประสบความสำเร็จอย่างสูงจากสองปีที่ผ่านมา ที่มุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเกิดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ข้อมูลเพิ่มเติม
เกี่ยวกับโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

       โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย บนพื้นที่ 93,515 ไร่ ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน ประมาณ 11,000 คน ประกอบด้วยชนเผ่า 6 เผ่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกนั้น ทรงเล็งเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมบนดอยตุง คือ ความยากจนและการขาดโอกาสในการดำรงชีวิตจึงทรงมีพระราชดำริที่จะนำผืนป่ากลับคืนสู่ดอยตุง และฟื้นฟูดอยตุงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโอกาสให้คนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนาหรือสัญชาติกลับมามีความหวังอีกครั้ง พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีสำนึกและพึ่งพาอาศัยกัน 
         จากการทรงงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการวางรากฐานอย่างมั่นคงส่งผลให้วันนี้ “ดอยตุง” กลายเป็นชุมชนที่มีศักยภาพเข้มแข็ง ชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ มีความมั่นคงทางการเงิน ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทั่งสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ได้ยกย่องให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน

เกี่ยวกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
         มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมชื่อ ‘มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2515 เพื่อส่งเสริมและหาตลาดให้งานหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ ไม่ให้ชาวเขาเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง
         ต่อมาในปี 2528 มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ เปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" เพื่อรองรับการขยายขอบเขตการทำงาน ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและต่างประเทศ และเมื่อสมเด็จย่าสวรรคตในปี 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นนายกกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2539