member THE SAVAGE GUARDIAN | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

THE SAVAGE GUARDIAN (04 มี.ค. 59)

ขณะที่เครื่องจักรสามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้แล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ให้คุณค่ากับงานฝีมือ เช่นเดียวกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ส่งเสริมงานหัตถกรรมของชาวบ้านผ่านแบรนด์ดอยตุง

ให้พวกเขาได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ผู้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ผ้าทอมือจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านคือหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์ดอยตุง โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทั้งยังมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าใยกัญชงเหล่านี้ดูเก๋ไก๋และร่วมสมัย ผสมผสานเทคนิคการทอและการออกแบบลวดลายของช่างทอและนักออกแบบ ทำให้ผ้ามีผิวสัมผัส สีสันที่เป็นเอกลักษณ์และสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ล่าสุด คอลเลกชั่น The Savage Guardian ที่คุณจะได้ยลโฉมอย่างเต็มรูปแบบในงาน L’Off iciel Fashion Destination 2016 ซึ่งจัดขึ้นที่จ. เชียงราย ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

ดร. กฤษณ์ เย็นสุดใจ คือดีไซเนอร์ผู้นำเอาผ้าทอมาสร้างสรรค์เป็นคอลเลกชั่นอันร่วมสมัยเหมือนเช่นเคย เขาทำให้ ‘งานหัตถกรรม’ และ ‘แฟชั่น’ สามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันได้อย่างผสมกลมกลืน ดีไซเนอร์ผู้นี้เคยทำงานกับพราด้า และอิซาเบล มารองต์ ทั้งยังได้รับเชิญเข้าร่วมงาน D’Days (Designers Days Paris 2015) ในสาขานวัตกรรมเครื่องนุ่งห่ม เคยได้รับรางวัล Designer of the Year 2005 ล่าสุด Designer of the Year (Honor awards) 2015 ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และรางวัล Designer For Asia Awards (DFA) Bronze prize ที่จัดขึ้นที่ฮ่องกง

คอลเลกชั่นที่ผ่านๆมาของเขานั้นมักหยิบยกเอาแง่มุมต่างๆ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯมานำเสนอผสมกับแรงบันดาลใจอื่นๆ และในคอลเลกชั่นนี้ประกอบด้วย 20 ลุค ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพทหารรักษาพระองค์ ผสมผสานกับภาพของพื้นที่ป่า ไปจนถึงชีวิตของผู้คนและเด็กๆบนดอย “เป็นการตีความเรื่องราวความลึกลับของเทพผู้พิทักษ์ป่า ความซับซ้อนของทัศนียภาพ นำเสนอออกมาเป็นรูปแบบมิติลวงตาทางเรขาคณิต แต่ที่จริงเป็นงานหัตถกรรม  ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางต่อไปของแบรนด์ดอยตุง”

คอลเลกชั่นนี้ยังคงความเป็นกูตูร์ แต่อาจจะไม่ได้เป็นกูตูร์ในแบบที่หลายคนคุ้นเคย โดยนำผ้าเส้นใยธรรมชาติมาผสมเข้ากับเส้นใยสังเคราะห์ ไม่ได้ใช้วัสดุอย่างกูตูร์ฝรั่งเศส แต่ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นถึงงานคราฟต์และฟินนิชชิ่งแบบไม่เหมือนใคร “เรานำลายผ้าจากหลายคอลเลกชั่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านเทคนิคการจัดวางให้เกิดมิติและผิวสัมผัสแบบใหม่ ความแปลกใหม่ของคอลเลกชั่นนี้คือการฟินนิชชิ่งหลังการตัดเย็บสำเร็จ โดยการใช้สีที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรม Silkscreen ด้วยเครื่องจักรซึ่งเหมาะแก่การผลิตจำนวนมาก แต่เรานำมาเขียนทับบนผ้าด้วยมือทำให้ดูคล้ายเทคนิคการจุ่มย้อม เรื่องลายก็สำคัญ อย่างความน่ากลัว ความรู้สึกเหมือนเดินในป่า การเน้นลายตัดกับลายใหญ่เพราะสเกลในโชว์ใหญ่จะได้เห็นชัด ก็ต้องคุมเรื่องการมองเห็นในระยะไกลด้วย เป็นความชัดของลายผ้าที่จะปักลงไป”

Credits: L’Officiel : http://lofficielthailand.com/2016/02/21-3/