member เนรมิต "สวนสีฟ้า" ชะลอป่าหิมพานต์ งานพระเมรุกลางสนามหลวง | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

เนรมิต "สวนสีฟ้า" ชะลอป่าหิมพานต์ งานพระเมรุกลางสนามหลวง (29 ก.ย. 51)

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11125 มติชนรายวัน 

เนรมิต "สวนสีฟ้า" ชะลอป่าหิมพานต์ งานพระเมรุกลางสนามหลวง

โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช

 


ฟอร์เก็ตมีน็อต

 

แม้จะล่วงเข้าเดือนที่ 7 แต่คลื่นมหาชนก็ยังคงหลั่งไหลไปถวายสักการะพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง

อีกไม่ถึง 3 เดือน บริเวณท้องสนามหลวงจะได้รับการแปลงโฉมราวกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามคติความเชื่อในไตรภูมิกถา เพื่อส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์

นอกจากจะจำลองเขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์มาไว้กลางท้องสนามหลวง สำหรับงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2551 ภายในพื้นที่ 11,985 ตารางเมตร

จะสะพรั่งไปด้วย "สีฟ้า" ของไม้ดอก 84 ชนิด ที่คัดสรรมา ณ ที่นี้ และพร้อมใจกันบานอวดสีสัน ไล่เฉดสี

...ตั้งแต่สีบลู เป็นไลท์บลู สกายบลู ดีพสกายบลู ดาร์กบลู เนวี่บลู มิดไนท์บลู แล้วข้ามเฉดไปอมม่วง อมชมพู อมขาว สลับแทรกม่วงขาว ม่วงแผ่วๆ จางๆ ม่วงไวโอเล็ต กระทั่งขาว

เพราะโจทย์ของการจัดสวนครั้งนี้อยู่ที่ "ดอกไม้สีฟ้า" ซึ่งเป็นสีโปรดของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

"ดอกไม้สีฟ้าเป็นดอกไม้ที่หายากที่สุด และช่วงนั้นไม่ใช่เวลาบานของดอกไม้"

ประวิทย์ บุญมี ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรับผิดชอบการประดับตกแต่งภูมิทัศน์ทางสถาปัตยกรรมบริเวณโดยรอบพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ บอก

แต่ถึงแม้ไม้ดอกที่เป็นสีฟ้าจะหายากขนาดไหน ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของฝ่ายเกษตร โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งเคี่ยวกรำประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาพืชพรรณนานาชนิด โดยเฉพาะไม้เมืองหนาว

 


แพนซีม่วง - มอร์นิ่งกอรี่

 



เหนืออื่นใดคือ ประสบการณ์จากการจัดสวนพระเมรุเมื่อครั้งงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จย่า เมื่อ 12 ปีก่อน ที่เป็นบทเรียนสำคัญ

"คอนเซ็ปต์ของการจัดสวนครั้งนี้เป็นการขยายความต่อจากทางกรมศิลปากรที่ว่า การสร้างพระเมรุเหมือนการจำลองรูปแบบของเขาพระสุเมรุมา เราก็เลยนำมาขยายความสื่อความหมายให้ครบองค์ประกอบ อย่างเขาพระสุเมรุจะมีมหานทีสีทันดรกับป่าหิมพานต์ล้อมรอบอยู่"

การจัดภูมิทัศน์จึงเริ่มตั้งแต่ต้นมะขามที่อยู่โดยรอบสนามหลวง ที่ถูกแต่งแต้มให้เป็น "ป่าหิมพานต์"

ถัดเข้าไปด้านในมีการปรับพื้นที่เป็น "เนินหญ้า" แทน "เขาสัตตบริภัณฑ์" ที่ล้อมรอบมหานทีสีทันดร ก่อนจะถึงเขาพระสุเมรุ โดยในส่วนของมหานทีสีทันดรที่มี 7 ชั้นนั้น ผอ.ประวิทย์บอกว่า จะใช้ไม้ดอก 7 สี สื่อความหมายแทนในแต่ละชั้น

"เฉพาะเขตราชวัตรชั้นใน ที่เปรียบเหมือนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดา เราเน้นดอกไม้ที่เป็น "สีฟ้า" 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะท่านโปรดสีฟ้า"

มีดอกไม้เด่นๆ ที่ท่านโปรด อย่าง มอร์นิ่ง กลอรี่, ไฮเดรนเยีย, ไชนีส ฟอร์เก็ตมีน็อต แล้วก็ รัสเปอร์ โลบีเรีย บาวาเรีย แพนซี ไวโอลา ฯลฯ

ส่วนใหญ่จะเน้นดอกไม้เมืองหนาว โดยจะนำเมล็ดมาเพาะเอง เพราะดอกไม้เมืองร้อนที่เป็นสีฟ้าไม่ค่อยมี

กระนั้น ความที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประสูติวันอาทิตย์ ฉะนั้น ในเขตราชวัตรชั้นใน นอกจากดอกไม้สีฟ้า จะมี "สีแดง" ของ "ดอกเข็ม" เป็นไม้ดอกที่เด่นอีกชนิด ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาเฉียบแหลม สื่อว่าท่านทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน

 


(บน) ไฮเดรนเยีย (ล่าง) โบรวาลเลีย

 


สำหรับการเตรียมไม้ดอกเมืองหนาวให้แกร่งพอที่จะสู้กับแสงแดดที่แผดกล้าอยู่ใจกลางสนามหลวงนั้น ผอ.ประวิทย์บอกว่า ไม่เป็นเรื่องน่าวิตก เพราะมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี

"เราสามารถกำหนดให้ดอกไม้ดอกไหนบานวันไหนก็ได้ เพราะมีการเตรียมการตั้งแต่การเพาะเมล็ด

"สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำให้เนื้อเยื่อแข็งแรง เราจึงเตรียมตัวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ปุ๋ย ให้แสง ให้ฮอร์โมน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ต้นไม้ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนให้ได้ เรียกว่า ทรมานไว้ก่อนจะมาเจอสภาพอากาศจริง

ครั้งที่แล้วในงานสมเด็จย่าฯ อุณหภูมิน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส ต้นไม้ที่นำมาลงก็ทนได้ เพราะเราเตรียมตัวมาก่อน ครั้งนี้ก็เช่นกัน"

ตัวอย่างการกำหนดแสง ผอ.ประวิทย์บอกว่า จะให้แสงทีละน้อยก่อน จากที่ให้แสง 30 เปอร์เซ็นต์ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 50, 70 จนถึง 100 เปอร์เซ็นต์

"เตรียมการมาแล้ว 6 เดือน โดยเริ่มเพาะเมล็ดเป็นบางชนิด เพราะฤดูกาลและระยะเวลาในการปลูกเลี้ยงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด แต่เผอิญเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับดอกไม้มา 17 ปี เราก็อาศัยค่าเฉลี่ยของความแปรปรวนเหล่านี้มาช่วยในการกำหนด

รวมทั้งระยะเวลาของการบานของดอกไม้แต่ละชนิด ที่ไม่เพียงบานไม่พร้อมกัน ยังมีระยะเวลาการบานที่ไม่เท่ากันอีก บางชนิดบาน 15 วัน บางชนิดบาน 30 วัน จึงต้องมีการคำนวณระยะเวลาไว้ทั้งหมด เพื่อให้ดอกไม้ทุกดอกบานพร้อมๆ กันในช่วงเวลาที่กำหนด นั่นคือทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้โปรแกรม"

ผอ.ประวิทย์บอกอีกว่า จะเริ่มขนต้นไม้ทั้งหมดจากไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มาถึงกรุงเทพฯ ตอนเดือนตุลาคม ด้วยรถบรรทุกสิบล้อ เฉพาะที่เป็นไม้ดอกประมาณ 50 เที่ยว เนื่องจากต้องใช้ต้นไม้ทั้งหมดราว 200,000 ต้น และยังต้องเผื่อเสียหายอีก 20 เปอร์เซ็นต์

"เราจะขนต้นไม้มาตอนกลางคืน เพื่อว่ารุ่งเช้าจะลงพื้นที่ได้เลย เพราะถ้านำมาอนุบาลอีกครั้งก่อนลงพื้นที่จะเกิดค่าใช้จ่ายและปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ตอนนี้จึงต้องรีบเตรียมพื้นที่ให้พร้อม"

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดลงในแปลงที่กำหนดไว้แล้ว ยังต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

หลักสำคัญ คือเรื่อง "ทิศทางลม" เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ถ้ามีความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้องจะเอื้อให้เชื้อโรคเติบโตได้เร็ว ฉะนั้น การจัดวางต้นไม้จึงต้องดูจังหวะของช่องไฟ ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งถ้าอยู่ในทิศทางลมจะต้องเลือกต้นไม้ที่มีความแข็งแรง

"ผมเชื่อว่าช่วงนั้นกรุงเทพฯน่าจะเริ่มมีฝน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอีกอย่าง เพราะไม้ดอกสีฟ้าที่เอามาค่อนข้างจะมีกลีบบาง ฉะนั้น จึงเตรียมทำหลังคาเพื่อกันแรงกระแทกของเม็ดฝน

"เราเอาเจ้าหน้าที่ของโครงการพัฒนาดอยตุงลงมา 50 คน มีทั้งที่เป็นอาข่า ไทยใหญ่ มูเซอร์ ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนมีความเชี่ยวชาญทั้งสิ้น มาช่วยตั้งแต่การทำสนามหญ้า เตรียมการตกแต่ง และดูแลจนงานเสร็จหมด เพราะครั้งนี้เป็นงานละเอียดอ่อน พลาดไม่ได้ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์"

เพื่อให้บริเวณโดยรอบพระเมรุ "สวยที่สุด ดีที่สุด ประหยัดที่สุด" และอย่างสมพระเกียรติที่สุด

ถวายแด่ "พระปิยโสทรเชษฐภคินี"