member งานสัมมนากิจการเพื่อสังคมระดับภูมิภาคอาเซียน กิจการเพื่อสังคม มุ่งสู่ความยั่งยืนในเอเซีย | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

งานสัมมนากิจการเพื่อสังคมระดับภูมิภาคอาเซียน กิจการเพื่อสังคม มุ่งสู่ความยั่งยืนในเอเซีย (03 ม.ค. 54)

                ช่วงวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2553 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมในการสัมมนา Regional Social Enterprise Knowledge and Partnership Symposium: Social Enterprise for a Sustainable Future in Asia ซึ่งจัดขึ้นณโรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯโดยการสนับสนุนของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ร่วมกับ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กรุงเทพธุรกิจ สถาบัน ChangeFusion และ สสส. เพื่อสร้างเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในเอเชียตะวันออกให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันความรู้ระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์และเปิดโอกาสให้หารือถึงจุดอ่อนและปัญหาต่างๆ 

 

                ที่ประชุมได้สรุปถึงศักยภาพของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในอันที่จะช่วยฟื้นฟูสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือร่วมแรงขององค์กรในทุกภาคธุรกิจที่ตระหนักถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยที่องค์กรเหล่านั้นจะต้องมีความเข้าใจใน “มุมมองและความต้องการในระดับรากหญ้า” ซึ่งจัดเป็นฐานรากของสังคมอย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะทำกิจการเพื่อสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลจริง มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งที่เป็นองค์กรเพื่อการพัฒนา องค์กรที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชนที่มีกิจกรรมเพื่อสังคม ตัวแทนจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาต่างๆ

 

ม.ล. ดิศปนัดดา  ดิศกุล ณ อยุธยา รองประธานบริหารฝ่ายพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ Social Enterprise for a Sustainable Future in East Asia  ร่วมกับผู้นำกิจการเพื่อสังคมระดับโลก เช่น Mr. Zulfigar Ahmed ผู้อำนวยการโครงการและการพัฒนา Un Ltd. ประเทศอังกฤษ Mr. Riaz Khan ผู้อำนวยการศูนย์Yunus Center at AIT  Mr. Vishnu Swaminathan จากโครงการ Ashoka Hybrid Value Chain            

 

ในการสัมมนา ม.ล. ดิศปนัดดาได้กล่าวว่า การได้รับความเชื่อมั่นจากชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานพัฒนา นับเป็นงานที่ท้าทาย ใช้เวลา และไม่อาจมองข้ามได้ “สิ่งแรกคือการเรียนรู้และเข้าใจชุมชนที่เรากำลังช่วยเหลืออยู่ จากนั้นเราจะสามารถวางแผนงานพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  และ “มีเส้นบางๆ ที่แยกการให้ความช่วยเหลือเพียงเพื่อให้ได้ช่วย ออกจากการช่วยเพื่อให้เขาช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาของเรา” นอกจากนี้ม.ล. ดิศปนัดดายังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นักพัฒนาจะต้องพิจารณาถึง แง่มุมและผลกระทบทั้งในด้านวิชาการ สังคม อารมณ์ และจิตวิทยาในการวางแผนงานด้วย

                ในเรื่องของ ความยั่งยืน และการที่กิจการเพื่อสังคม จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจนั้น ม.ล. ดิศปนัดดาได้ให้ความเห็นว่า การวัดความสำเร็จของการพัฒนาในเชิงปริมาณ เช่นเวลาและเงินที่ได้ใช้ไปแต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้ผู้พัฒนาไม่ได้คิดถึงแนวคิดของ ความยั่งยืน ที่แท้จริง “เราต้องพิจารณาและประเมินทั้งด้านคุณภาพและศักยภาพ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการช่วยตัวเองต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน ของชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา”

               

                นอกจากนี้  มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับงานและโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา โดย Knowledge & Learning Centre พร้อมทั้งได้นำผลิตภัณฑ์ “แบรนด์ดอยตุง” จากโครงการพัฒนาดอยตุง ไปแสดงด้วย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก