member คณะ Executive MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29-31 ตุลาคม 2553 | Doi Tung Development Project Sustainable Development doi tung coffee Chiang Rai Thailand Macadamia

คณะ Executive MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29-31 ตุลาคม 2553 (30 พ.ย. 53)

“การทำงานต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่ทำเพื่อเรา เพราะชาวเขาหรือพนักงานที่นี้ก็ตาม
เค้าไม่ได้ทำเพื่อคุณชาย แต่เขามีจุดมุ่งหมายร่วมกันกับคุณชาย …
ต้องคิดว่าทำเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ทุกคนดีขึ้นหมด”

คุณหมอ เขตโสภณ จัตวัฒนกุล: ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัทรินทร์และสมาชิกกลุ่มMBA

วันที่ 29 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553 คณะอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 5 ท่าน และนิสิตโครงการ Executive MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 32 ท่าน ได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และโครงการปลูกป่าบ้านปางมะหัน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และให้คณะได้เข้าใจหลักการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จที่ดอยตุง และนำมาปรับใช้ที่ปางมะหันให้คนในพื้นที่โครงการสามารถ “อยู่รอด” “อยู่พอเพียง” และ “อยู่อย่างยั่งยืน” ตามลำดับ สำหรับนิสิตหลายท่านการศึกษาดูงานในครั้งนี้ถือเป็นการสัมผัสงาน “พัฒนา” อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก

คณะ Executive MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะ Executive MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นหลักสูตรของ “มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต” (Living University) ของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คณะได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิฯ และตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงเพื่อได้เห็น “ประสบการณ์การพัฒนาจริง” ด้วยตัวเอง และเข้าใจถึงหลักการพัฒนาที่มุ่งเน้นที่ “คน” เป็นหลัก และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงในระดับรากหญ้า

นอกจากการดูงานตามสถานที่ต่างๆ ในโครงการแล้วยังมีการรับฟังการบรรยายและเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนบทเรียนจากการดูงานในครั้งนี้อีกด้วย ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนา บรรยายเรื่องการขยายผลการพัฒนาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า โดยกล่าวถึงหลักการเดียวกันที่นำไปปรับใช้ตามภูมิสังคม และในขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากพื้นที่และชุมชนนั้นๆ เพื่อให้การพัฒนาของเราตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน

คณะ Executive MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้กล่าวย้ำกับคณะนิสิตที่มาศึกษาดูงานว่า การทำงานพัฒนาสังคมของมูลนิธิฯ ไม่ต่างจากการทำธุรกิจใดๆ ที่มีปัจจัยความสำเร็จ คือ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มูลนิธิฯหวังว่าประสบการณ์การครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจและให้การสนับสนุนการพัฒนาชนบท รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้คณะผู้ดูงานดำเนินธุรกิจอย่างมีสำนึกทางสังคม และสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง