การเข้าสู่ภาวะปกติ (ความอยู่ตัว)

               กระบวนการเข้าสู่ภาวะปกติจะเหมือนกันทุกครั้ง ไม่ว่าเด็กจะเริ่มต้น ณ จุดใดก็ตาม หากเด็กได้สามารถทำงานในเวลาของตนเองในสถานที่ที่ตนต้องการ และสามารถประสบความสำเร็จได้โดยมีสมาธิ สิ่งนั้นจะกลายเป็นอุปนิสัย (habit) และในที่สุด ทุกๆ คนจะมาถึงในจุดเดียวกันทั้งหมด

               มอนเตสซอรีได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หากเด็กได้ทำงานอย่างมีสมาธิแล้ว ทุกๆ คนจะไปถึงที่จุดหมายเดียวกัน โดยมีพฤฒิกรรมในแบบเดียวกันทั้งหมด และสามารถเกิดขึ้นกับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีวัฒนธรรม หรือเชื้อชาติใด และในเมื่อสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นกับเด็กได้ทุกคน โดยไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ฯลฯ เธอจึงเรียกภาวะดังกล่าวว่าภาวะ”การเข้าสู่ภาวะปกติ” (ความอยู่ตัว) เด็กปกติคือเด็กที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มสมรรถภาพ โดยไม่โดนกัก หรือโดนรั้งไว้โดยสังคม หรือในชีวิตที่เด็กอาศัยอยู่

ปัจจัยที่ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ คือ

  • เด็กควรเป็นฝ่ายเลือกกิจกรรมด้วยตนเอง
  • ควรมีกิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหวทางร่างกาย โดยเฉพาะการใช้มือ
  • กิจกรรมควรอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริง และความเป็นไปได้
  • กิจกรรมควรมีลักษณะที่จะสามารถดึงดูดความสนใจ และสร้างสมาธิให้แก่เด็ก
  • เด็กควรทำกิจกรรมได้โดยไม่มีการรบกวน
  • ควรปล่อยเด็กให้สามารถทำกิจกรรมได้เท่าที่เด็กต้องการ
  • ควรปล่อยเด็กให้ทำกิจกรรมตามตารางเวลาของเด็กเอง

               การเข้าสู่ภาวะปกตินี้สามารถเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดได้ แต่จะเกิดก็ต่อเมื่อเด็กมีสมาธิแล้วเท่านั้น เด็กจะแสดงบุคลิกและนิสัยบางอย่างออกมาอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น เช่น นิสัยการรักความมีระเบียบ รักการทำงานเพื่องาน มีสมาธิอย่างมั่นคง อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง รักความสงบ และการทำงานคนเดียว ไม่แสดงความเป็นเจ้าของในสิ่งต่างๆ มีวินัยในตนเอง เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุข “มอนเตสซอรีค้นพบนิสัยของเด็กดังกล่าวด้วยประสบการณ์ เธอไม่ได้พยายามค้นหา ไม่ได้คาดหวัง และไม่ได้แม้แต่คิดถึงแต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองอย่างแท้จริง”
Spontaneous Activity in Education หน้า174 บทที่ 10

               “ฉันเห็นมาตั้งแต่โรงเรียนแรกของฉัน และในที่ที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้ ว่านิสัยของเด็กจะค่อยๆ หายไปเมื่อเขาเหล่านั้นคร่ำเคร่งอยู่กับงานที่เขาสนใจ ทั้งนิสัยที่ดีและไม่ดี ต่างหายไปทั้งหมด และจะเหลือก็แต่เพียงเด็กที่มีเพียงแบบเดียว”
The Absorbent Mind หน้า 183 บทที่ 19

               “เด็กที่โรงเรียนของเราพิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการสิ่งเดียวคือการได้ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย และไม่มีใครเคยคาดว่าเด็กนั้นมีพลังในการเลือกงานที่เขาต้องการเองโดยธรรมชาติ เด็กจะเลือกงาน (คนละอย่าง) และทำไปเรื่อยๆ ซึ่งงานเหล่านั้นจะทำให้เด็กมีความสุขุม และความสุข”
The Absorbent Mind หน้า 184 บทที่ 19

               จากนั้น สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในหมู่เด็กก็เกิดขึ้น นั่นคือ “ระเบียบวินัย” ที่เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ ระเบียบวินัยพร้อมอิสรภาพ ดูจะแก้ปัญหาทั้งหลายได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ที่ดูเหมือนจะมีรูปแบบเดียว มิได้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ว่าเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด มันจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กปฏิบัติงานหรือกิจกรรมใดๆ ที่ใช้สมาธิสูง มนุษยชาตินั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ความเป็นหนึ่งนั้น ต้องเกิดจากการสั่งสมที่จากโลกประสบการณ์แห่งความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ

               หากปัจจัยภายนอกเป็นอุปสรรคไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะมีการกระตุ้นในแต่ละส่วน ให้แยกออกจากกัน และจะมีผลทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล แต่หากมีสิ่งน่าสนใจสิ่งใหม่เข้ามาเช่น มีกิจกรรมที่ดูสร้างสรรค์และน่าสนใจ พลังงานเหล่านี้จะรวมตัวกันและทำให้เด็กหันเหความสนใจได้ จะเกิดเป็น “เด็กคนใหม่” แต่จริงๆ แล้วเป็นบุคลิกของเด็กอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มักเกิดขึ้นภายหลังจากการได้ทำงานโดยการสัมผัสด้วยมือ ซึ่งเป็นงานที่เกิดขึ้นจากการใช้สมาธิทางความคิด สิ่งสำคัญคือ งานต้องมีลักษณะที่กระตุ้นความสนใจของเด็ก และทำให้เด็กแสดงบุคลิกภาพของตนออกมา มีเพียงเด็กที่ “เข้าภาวะปกติ” แล้ว ซึ่งมีสภาวะแวดล้อมที่อำนวยเท่านั้น ที่จะแสดงพัฒนาการของพลังอันน่ามหัศจรรย์ที่ได้อธิบายมาซึ่งหมายถึงการมีวินัยโดยธรรมชาติ การทำงานที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง

               หลักการไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง การได้ทำงานที่ได้เลือกเอง สนใจ และมีสมาธิกับกิจกรรมนั้นๆ จะทำให้เด็กไม่รู้สึกเหนื่อยและลำบาก ประกอบกับพลังงานที่เด็กมี และความสามารถทางปัญญา จะนำไปสู่ความเป็นนายของตัวเอง ลักษณะนิสัยต่างๆของเด็กสามารถพัฒนาได้ง่ายดังนั้นลักษณะนิสัยที่ไม่ปกติจะหายไปเช่นเดียวกับสุขภาพที่ดีจะทำให้โรคต่างๆหายไป พัฒนาการตามปกติของเขาเปลี่ยน          

               “ถ้าครูผู้ดูแลทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง โดยเคารพในตัวเด็ก เสนอกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กแม้บางครั้งเด็กอาจดูไม่สนใจ หรือส่งเสริมเด็กโดยไม่บังคับ และปล่อยให้เด็กได้ทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการรบกวน หรือให้เด็กเลือกกิจกรรมเอง วันหนึ่ง จะพบว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น”