ความมีสมาธิ

               สิ่งที่จำเป็นที่สุดอันดับแรกในพัฒนาการของเด็กคือ สมาธิ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยปูพื้นฐานทั้งหมดสำหรับบุคลิกภาพและพฤติกรรมทางสังคมของเด็ก เด็กต้องเรียนรู้ที่จะมีสมาธิ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่ตนสนใจ  จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวมีความสำคัญต่อเด็กอย่างมาก บุคคลอื่นไม่สามารถจะเป็นผู้ที่ทำให้เด็กเกิดสมาธิได้ สมาธิต้องเกิดจากตัวเด็กเองเท่านั้น

               จากการศึกษาด้านจิตวิทยามอนเตสซอรี่พบว่าเด็กไม่สามารถจะสร้างสมาธิเองได้ ดังนั้นเธอจึงมิได้คาดหวังว่าการมีสมาธิของเด็ก จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

               วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังสังเกตเด็กคนหนึ่งขณะที่เด็กทำกิจกรรมกับสื่อทรงกระบอกอยู่ ก็ได้เกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นในใจ จากนั้นเธอก็ทดลองดูกับเด็กคนอื่นๆ เและนี่คือจุดเริ่มต้น ”นับแต่นี้ไป เมื่อเห็นว่าเด็กกำลังมีสมาธิอยู่กับการทำงาน ฉันจะไม่เข้าไปรบกวน”

               จากการสังเกตการณ์ ทำให้เธอค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้ว สมาธินั่นเอง คือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาโดยธรรมชาติของเด็ก ต่อมาในการฝึกหัดครูเธอจึงเน้นให้ครูตระหนักถึงความสำคัญของการเกิดสมาธิและการให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นในการทำงาน เพราะทั้งสองสิ่งมีความสัมพันธ์กันจะเห็นได้ว่าสมาธิหรือความใส่ใจของเด็กที่เกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถสอนหรือบังคับกันได้ แต่สมาธิก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งของการเติบโตของมนุษย์ และแสดงให้เห็นถึงสภาพจิตใจที่แท้จริง

               ช่วงเวลาที่เด็กเกิดสมาธิ เป็นช่วงเวลาที่นำไปสู่บุคลิกภาพด้านอื่นๆซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ ”ภาวะธรรมชาติ” (เป็นคำนิยามที่มอนเตสซอรี่ใช้เพื่ออธิบายถึงภาวะที่เด็กมีความเป็นปรกติตามธรรมชาติของตนเองทั้งด้านความคิด ร่างกาย และจิตวิญญาณ)

               “สมาธิ” คือกุญแจที่จะไขสู่ความสามารถที่มีในตัวเด็ก

               “สมาธิ” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากวิธีในการให้การศึกษา

               เราไม่ควรรบกวนเด็กที่กำลังใช้สมาธิ เพราะบางสิ่งบางอย่างกำลังเกิดขึ้นในตัวเด็กขณะที่เกิดสมาธิ เด็กจะมีสมาธิเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ วันละคนสองคน ซึ่งหลังจากที่เด็กเกิดสมาธิแล้วพฤติกรรมของเด็กจะเปลี่ยนไป เด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองและทำงานเพื่อตัวเองมากขึ้น เด็กที่ไม่มีระเบียบวินัยจะเริ่มมีระเบียบวินัยมากขึ้น จนกระทั่งเห็นว่าความไม่มีระเบียบวินัยเป็นสิ่งไม่ปรกติ

               ครูผู้สอนต้องทราบทันทีที่เห็นว่าเด็กเริ่มมีสมาธิ หรือใส่ใจกับบางสิ่ง อนาคตของเด็กจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาช่วงนี้ และครูผู้สอนจะต้องไม่รบกวนสมาธิเด็กในช่วงดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะปฏิบัติเนื่องจากครูมักจะต้องเข้าไปแทรกแซงในช่วงดังกล่าวก่อนที่เด็กจะเข้าสู่สภาวะสมดุลอยู่เสมอ

               ครูไม่ควรรบกวนเด็กในขณะที่เด็กกำลังทำงานตามลำพัง และไม่ต้องสนใจว่าเขาจะทำอะไรผิดหรือไม่ และไม่ต้องแก้ไขใดๆ ในช่วงนี้ เพราะสิ่งสำคัญมิใช่ว่าเด็กสามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ เด็กกำลังมีสมาธิและใส่ใจกับสิ่งๆ นั้นอยู่

               ครูจะต้องใส่ใจและพร้อมที่จะตระหนักทันทีที่เห็นเด็กเกิดสมาธิ และต้องไม่รบกวนเด็กด้วยการเข้าไปแก้ไขเมื่อเด็กทำผิด หากจำเป็นต้องแก้ไขก็ควรหาโอกาสอื่นแก้ไขให้เด็กทางอ้อม ไม่ใช่ในเวลาที่เด็กกำลังเกิดสมาธิอยู่นั้น

               งานที่เป็นปัจจัยสำคัญคืองานที่กระตุ้นความสนใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพโดยรวมของเด็ก งานที่เด็กสนใจและมีโอกาสได้เลือกเองนั้น ทำให้เด็กเกิดสมาธิและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพลังและขีดความสามารถให้กับเด็ก และทำให้เด็กเป็นคนที่สามารถควบคุมตนเองได้

               เมื่อไม่มีสมาธิ เด็กจะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง และจะให้ความสนใจกับสิ่งรอบๆตัวจนกระทั่งเขาพบสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆ เขาจะกลับมาเป็นนายของตัวเอง และควบคุม “โลก” ของเขาได้

               เมื่อเด็กพบสิ่งที่ตนเองสนใจแล้ว เด็กจะมีสมาธิและเกิดความอุตสาหะ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหล่อหลอมบุคลิกภาพของมนุษย์

ดังนั้นความมีสมาธิจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเผยคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเด็กให้ออกมา

               “จากจุดที่มีการสัมผัส ซึ่งเกิดขึ้นที่ส่วนของปลายประสาท และลึกลงไปในบุคลิกภาพของเด็ก มีบางสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง บุคลิกภาพที่กระจัดกระจายกำลังรวมตัวกัน ความมีระเบียบมาแทนที่ความไม่มีระเบียบ กระบวนการสร้างตนเองตามที่ธรรมชาติตั้งใจให้เป็น ซึ่งเคยถูกรบกวนได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง”