การเล่น

               เมื่อเกิดคำถามขึ้นว่า วิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เด็กเล็กๆเกิดจินตนาการที่สร้างสรรค์ได้ดี ระหว่างวิธีการชักนำและปลูกฝังให้เชื่อโดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติ หรือการให้เด็กได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ได้ลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งการตัดสินใจในการแก้ปัญหาจริง

                สำหรับ ดร.มอนเตสซอรีแล้ว เธอตอบได้โดยไม่รั้งรอเลยว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งสามารถจับต้อง สัมผัส รู้สึก เคลื่อนไหว และได้รับประสบการณ์จริงนั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยพัฒนาความคิดและจินตนาการให้กับเด็ก โดยการให้เด็กได้เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดเตรียมก็จะทำให้เด็กสามารถสร้างจินตนาการที่ถูกต้องขึ้นได้จากการสังเกตเห็นได้โดยธรรมชาติภายใต้สิ่งแวดล้อมนั้น แต่ก็อาจมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และคัดค้านว่า สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับธรรมชาติของเด็ก โดยอ้างว่าวิธีการของมอนเตสซอรี่นั้นได้มาจากการสังเกตเด็ก และทุกคนก็คงทราบดีว่า หากเด็กถูกปล่อยไว้ตามลำพังเด็กก็เลือกที่จะหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง ไปสู่โลกแห่งการเล่นและจินตนาการ ใช่หรือไม่

               ดร.มอนเตสซอรี กล่าวว่าเป็นความจริง ที่ว่าเด็กมักชอบหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริง และเข้าสู่โลกแห่งมายา โลกแห่งการ “สมมติ” แต่เด็กหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงแบบไหนกันล่ะ

               จากโลกแห่งความเป็นจริงที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมาเพื่อตัวเอง ตามมาตรา  ตามสัดส่วน ตามมาตรฐาน  ตามความมุ่งหวัง และตามจังหวะเวลาของผู้ใหญ่เองนั่นต่างหาก ในโลกที่เด็กถูกมองเป็นตัวรบกวนความสงบสุขของผู้ใหญ่  ในโลกที่เด็กๆมักจะถูกผลักไสให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือห้องเรียน จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมและพร้อมกลับมาสู่การเป็นสมาชิกของสังคมอย่างเป็นประโยขน์ แต่อย่าลืมว่าในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือในห้องเรียน เด็กก็ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใหญ่อยู่นั่นเอง

                จึงอาจไม่มีส่วนใดในงานของมอนเตสซอรี่ที่เราจะโต้แย้งหรือเกิดความเข้าใจผิดได้เลยเกี่ยวกับความเชื่อของเธอที่ว่าเด็กต้องการทำงานมากกว่าเล่น เพราะที่สำคัญก็คือข้อสรุปของเธอนั้นได้มาจากการสังเกตเด็กมากมายในโรงเรียนของเธออย่างรอบคอบด้วยตัวเธอเอง

                เธอไม่ได้เริ่มต้นจากการตั้งทฤษฎีขึ้นมาก่อน  เพราะที่จริงแล้วเธอเองก็รู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อยกับสิ่งที่เห็น กับสิ่งที่เธอได้ทำการบันทึกไว้ว่าเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งด้านความสุข ความมั่นใจ และความมีระเบียบวินัย เมื่อได้ถูกปล่อยให้ได้ทำตามความต้องการโดยธรรมชาติของตนเอง สิ่งนี้ทำให้เธอเกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า การเล่นนั้นเป็นลักษณะโดยธรรมชาติที่แท้จริงของวัยเด็กหรือเป็นลักษณะที่เกิดจากความไม่สมหวัง จากการถูกบังคับและกีดกัน เพราะความเป็นเด็ก เธอเชื่อว่าเด็กปกติทุกคนจะเลือกทำกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายและน่าสนใจตามความต้องการของตนในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าแค่จินตนาการหรือความเพ้อฝัน

               เธอเชื่อมั่นในสิ่งนี้เป็นอย่างมาก และรู้สึกผิดหวังที่คนส่วนใหญ่ยังคงเรียกกิจกรรมต่างๆที่เห็นในโรงเรียนของเธอว่าเป็น “การเล่นโดยธรรมชาติ” “ฉันต้องปกป้องวิธีการของฉันจากคนที่พูดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเล่น คนที่ไม่เข้าใจว่าการทำงานเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ซึ่งสรรสร้างตนเองขึ้นมาจากงาน”

               เธอรู้สึกว่าผู้ใหญ่ยังคงประเมินเกี่ยวกับความต้องการของเด็กในการทำกิจกรรมจริงๆในโลกแห่งความเป็นจริงต่ำเกินไป โดยแค่ให้เด็กได้มีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ตนเองชอบเท่านั้นและยังตีความหมายของธรรมชาติที่แท้จริงของเด็กแบบผิดๆ โดยหมายถึงการมีอิสระในการเล่นเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงอิสระในการทำงาน

               ดังนั้นในโรงเรียนต่างๆ เด็กจึงมักได้รับอนุญาตให้ “เล่นได้ตามอิสระ” หลังจากทำงานที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้เสร็จแล้วเท่านั้น และเหตุการณ์ก็ยังคงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน เธอเห็นว่างานของเด็กนั้นมีความแตกต่างจากงานของผู้ใหญ่อย่างลึกซึ้ง เด็กจะทำงานเพื่อความสนุกสนานในกระบวนการทำงานมากกว่ามุ่งสู่ความสำเร็จของงาน ดังนั้นเด็กจึงต้องการทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะพอใจ และจะเกิดความรู้สึกตื่นเต้น กระปรี้กระเปล่า มากกว่ารู้สึกว่าเป็นภาระหรือว่าเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานเหล่านั้น

               เธอเน้นให้ใช้คำว่า งาน เพื่อให้ผู้ใหญ่ตระหนักและเห็นความสำคัญของกิจกรรมต่างๆเหล่านั้นมากขึ้น

               จินตนาการของเด็กสามารถสื่อความหมายถึงบางสิ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดภาพมายาขึ้นในความคิด เด็กอาจจะได้รับของเล่นแล้วจะเล่นอยู่กับของเล่น แต่ของเล่นจะเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่ได้ให้สิ่งใดที่สร้างสรรค์กับเด็กที่เชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงเลย  “ของเล่นทำให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีจุดมุ่งหมายใดๆ และผลก็คือ ของเล่นจะไม่ทำให้เด็กเกิดสมาธิทางความคิดใดๆ เลย นอกเสียจากภาพลวงตา” เหมือนกัน หน้า 156 บทที่ 23

                “ใน “บ้านเด็ก” นั้นมิได้มีเพียงห้องครัวจำลอง เครื่องใช้จำลอง ลูกบอล และตุ๊กตาเท่านั้น แต่ยังมีเก้าอี้ เตียง ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับบ้านตุ๊กตา นอกจากนั้น ยังมีฟาร์ม ต้นไม้ ฝูงแกะ สัตว์จำลอง เป็ด ห่าน ที่สามารถลอยน้ำได้จริง เรือพร้อมไม้พาย  ทหาร รถไฟ คอกม้า บ้านชนบท  ฯลฯ อีกมากมาย”

                “แต่ฉันก็ต้องรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมากที่เห็นว่าหลังจากที่เด็กได้เรียนรู้วิธีการอ่านบัตรคำแล้ว พวกเขาก็ปฏิเสธที่จะเสียเวลาไปกับของเล่นเหล่านั้นอีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับต้องการหยิบบัตรคำอันแล้วอันเล่ามาอ่านอย่างไม่รู้จักพอ  ฉันมองดูเด็กๆและพยายามหยั่งเข้าไปในความคิดอันน่าพิศวงของพวกเขา และหลังจากที่ฉันได้คิดทบทวนอยู่พักหนึ่ง ฉันก็ตระหนักในความคิดที่ว่า  โดยสัญชาติญานในความเป็นมนุษย์นั้น เด็กๆมีความปราถนาที่จะได้รับความรู้มากกว่าการเล่นที่ไร้สาระและฉันก็ได้ข้อสรุปถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์

                การเรียนกับมอนเตสซอรีนั้น การแสดงออกที่ถือว่าเป็นสำคัญที่สุด หากเด็กได้ทำกิจกรรมอย่างเป็นธรรมชาติตามความต้องการของตนเอง อาจสังเกตได้ว่า ดร.มอนเตสซอรี เห็นว่าการเล่นเป็นเพียงการมีความสุขในมุมหนึ่งตามธรรมชาติของแต่ละคนเท่านั้นแต่การทำงานจะลงไปในมิติที่ลุ่มลึกกว่าและทำให้บุคคลรู้สึกบรรลุได้ในความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ที่เด็กเลือกที่จะทำงานมากกว่า เนื่องจากมันให้ความพึงพอใจแก่จิตใต้สำนึกที่รอการเติบโต และพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่กลมกลืนกัน